หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระพุทธศาสนา » พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน
 
เข้าชม : ๑๓๐๔๑ ครั้ง

''พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน''
 
พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (2540)

ในนามของมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าขออนุโมทนาต่อชาวพุทธศรีลังกาในโอกาส ฉลองครบ ๒๕๐ ปีแห่งการ สถาปนาคณะสงฆ์ สยามนิกายในศรีลังกา เพื่อดำเนินตามปฏิปทาของพระอุบาลี มหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้ ข้าพเจ้าเข้าร่วมประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติครั้งนี้เพื่อแสดงเจตนาของเราในการกระชับความ สัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ศรีลังกา และคณะสงฆ์ไทย เรื่องราวความสำเร็จ ของท่านพระอุบาลีเตือนให้เราระลึกว่า ในโลกปัจจุบันยุคโลกาภิวัตน์ คณะสงฆ์ศรีลังกาและคณะสงฆ์ไทย จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์แห่งพระพุทธศาสนา

พระอุบาลีคือพระธรรมทูตชั้นยอดของไทย
          ศรีลังกาและไทยมีประวัติความ สัมพันธ์ทางด้านศาสนาที่ยาวนาน

              พระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยได้ชื่อว่าลังกาวงศ์ ทั้งนี้เพราะเมื่อ ๗๐๐ ปีที่ผ่านมา พ่อขุนรามคำแหงได้อาราธนาหัวหน้าพระสงฆ์ศรีลังกามาจากนครศรีธรรมราชในภาคใต้ มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ที่กรุงสุโขทัย และเมื่อ ๒๕๐ ปีที่ผ่านมา ชาวไทยได้มีโอกาส ตอบแทนคุณของศรีลังกาด้วยการที่พระเจ้าบรมโกษฐ์ ทรงส่งพระอุบาลีและคณะมาฟื้นฟูการอุปสมบทใน ศรีลังกาหลังจากที่ สมณวงศ์ในเกาะลังกาได้ขาดสูญไป เพราะการกดขี่ของโปรตุเกส แต่ด้วยความเสียสละ ที่ยิ่งใหญ่ของพระอุบาลี การอุปสมบทก็ได้รับการฟื้นฟู และมีการสถาปนาสยามนิกายในศรีลังกา

         เราทั้งหลายต่างมาประชุมกันที่นี่ เพื่อรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ ที่พระอุบาลีได้ทำไว้แก่พระพุทธศาสนาในศรีลังกา ขณะที่พระอุบาลี ตัดสินใจเดินทางมาศรีลังกา นั้น ท่านอาจจะรู้ตัวว่านี่เป็นการเดินทาง ที่ไม่มีวันกลับ ท่านพร้อมที่จะสละชีวิตของท่าน เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ และเพื่อการประกาศพระพุทธศาสนา ท่านได้ปฏิบัติตาม พระพุทโธวาทที่ประทานแก่ พระอรหันต์ ๖๐ รูป ซึ่งเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรกว่า "จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชน สุขาย โลกานุกมฺปาย ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก" พระอุบาลีถึงแก่มรณภาพ ที่ศรีลังกา หลังจากใช้เวลาฟื้นฟูวงศ์อุปสมบท ในเกาะนี้ได้ ๓ ปี โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าพระอุบาลีเป็นพระธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าพระอุบาลีไม่เพียงแต่ดำเนินภารกิจในศรีลังกาให้ลุล่วงไปเท่านั้น แต่ยังประ บความ สำเร็จในการ ถาปนาคณะสงฆ์นิกายใหญ่ที่ สุดในศรีลังกาซึ่งขนานนามนิกายนี้ตามชื่อของประเทศมาตุภูม ิและชื่อพระอุบาลีว่า ยาโม ปาลีมหานิกาย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า สยามนิกาย

          นับเป็นเรื่องน่าสนใจที่ว่าพระพุทธศาสนานิกายสำคัญในศรีลังกามีชื่อว่า สยามนิกาย ขณะที่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีชื่อว่าลังกาวงศ์ ทั้งนี้เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่ว่าประเทศไทยยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทจากศรีลังกา ในสมัยสุโขทัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ และยังอนุรักษ์ประเพณีตามหลักพระไตรปิฎกพร้อมทั้งรักษา สมณวงศ์ไม่ให้ขาดสูญตั้งบัดนั้น เป็นต้นมา

          ในประเทศไทย สมัยปัจจุบัน พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ ภายใต้บทบัญญัต แห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์พระประมุขของชาติทรงเป็นพุทธมามกะ พระมหากษัตริย์ และรัฐร่วมกันอุปถัมภ์ บำรุงกิจการคณะสงฆ์ และส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่ประชาชน จากการสำรวจประชากรครั้งล่าสุด ประเทศไทยมีประชากร ๖๓ ล้านคน และคนไทยร้อยละ ๙๔ นับถือพระพุทธศาสนา ตาม สถิติเมื่อปี ๒๕๔๕ ทั่วทั้งประเทศไทย มีวัดอยู่ ๓๒,๐๐๐ วัด พระภิกษุ ๒๖๕,๙๕๖ รูป และ สามเณร ๘๗,๖๙๕ รูป

          นอกจากมีวัดป่าหลายวัด ซึ่งเป็นวัดที่พระจะเข้าไปปฏิบัติธรรม ระยะยาวได้แล้ว ยังมีวัด อยู่เกือบทุกหมู่บ้าน และในตัวเมืองเอง ก็มีวัดหลายวัดด้วยกัน ตามปกติโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของวัด และพระสงฆ์เองนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน ตามความพยายามของรัฐ ที่ประสงค์จะยกระดับ การศึกษาของประเทศชาติทั้งหมด ดังนั้น พระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ จึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งในชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศไทย

การปกครองคณะสงฆ์
          ประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ มีนิกายฝ่ายเถรวาท ๒ นิกาย คือมหานิกายและธรรมยุตนิกาย มหานิกายมีจำนวนมากกว่า และสืบเชื้อสายตรงมาจากการ สถาปนาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ในยุคสุโขทัย ส่วนธรรมยุตนิกายได้ สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นนิกายเล็กกว่า มุ่งเน้นการปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด แต่ทั้งสองนิกายก็อยู่ภายใต้การปกครอง ของมหาเถรสมาคม และ สมเด็จพระสังฆราช การปฏิรูปภายในองค์กรระยะต่อมา ได้ลดความแตกต่างระหว่างนิกายลงมาก

         ในศตวรรษที่ผ่านมา คณะสงฆ์ในประเทศไทยได้ปกครองตัวเองอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่หนึ่ง (พ.ศ. ๒๔๔๕) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๔) และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับล่าสุด ซึ่งตราออกเป็นพระราชบัญญัติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. ๒๕๓๕ และยังมีคณะสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย คือ ฝ่ายมหายาน ที่แบ่งเป็นจีนนิกายและอนัมนิกาย และฝ่ายเถรวาทที่แบ่งเป็น มหานิกายและธรรมยุตนิกาย ทั้งฝ่ายเถรวาท และมหายานต้องอยู่ภายใต้การปกครองของ สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่มหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นจากนิกายใดนิกายหนึ่งในฝ่ายเถรวาท และจะดำรงตำแหน่งพระสังฆราช ไปจนตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จพระสังฆราชมีมหาเถรสมาคมเป็นผู้ช่วยสนองงาน มหาเถรสมาคมนี้มีกรรมการถาวรโดยตำแหน่งจำนวน ๘ รูป และกรรมการที่ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอีกจำนวน ๑๒ รูป

        มหาเถรสมาคมมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ ออกกฎระเบียบ และแต่งตั้งผู้บริหารงานคณะสงฆ์ทั้งสองนิกาย การบริหารคณะสงฆ์ม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมเป็นหน่วย สนองงาน สำนักงานนี้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกลมเกลียวกัน ทั้งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพระภิกษุสามเณรและอาราม โดยจัดสรรงบประมาณอุดหนุนจากรัฐ และมีหน้าที่ส่งเสริมการบริหารงานของพระสังฆาธิการ

        เมื่อว่าตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ไทยมีการจัดองค์กรอย่างดี วัดนับหมื่นวัดและพระภิกษุสามเณรประมาณ ๓ แสนรูป อยู่ภายใต้การบริหารแบบรวมอำนาจเข้าสู่
ศูนย์กลาง และคณะสงฆ์ได้รับการยอมรับและอุปถัมภ์จากรัฐ ซึ่งทำให้กิจการคณะสงฆ์ การศึกษาและพิธีกรรม มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การปกครองคณะสงฆ์ ที่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางนี้ ทำให้กิจการคณะสงฆ์ ได้รับการดูแลใกล้ชิด สามารถรักษาระเบียบวินัย และมีช่องทางการติดต่อสื่อสาร ระหว่างศูนย์กลางการบริหาร กับจังหวัดที่ไกลออกไป เนื่องจากมีการจัดองค์กรแบบนี้ การประสานร่วมมือและความปรองดองกับรัฐจึงคงมีอยู่ได้ และพระสงฆ์เองก็มี ส่วนสร้างความ สามัคคีในหมู่ประชาชนและรักษาความมั่นคงของชาติ แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง องค์กรที่มีการรวมเข้า สู่ศูนย์กลางเช่นนี้ต้องพึ่งพาอาศัยคณะผู้นำจำนวนน้อย ซึ่งจะมีข้อจำกัดตรงที่ไม่ สามารถตอบรับต่อ ภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

         ปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับใหม่ มีการยกร่างและอภิปราย พระราชบัญญัติปฏิรูปคณะสงฆ์ขึ้นมา จะมีการปรับโครงสร้างการบริหารคณะสงฆ์ชนิดที่ว่า จะมีการกระจายอำนาจของมหาเถรสมาคม ให้คณะกรรมการบริหารเรียกว่า มหาคณิสรมาช่วยสนองงาน

การศึกษาของคณะสงฆ์
         ในการจัดการศึกษาให้พระภิกษุสามเณร มหาเถรสมาคมมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษา ระบบการศึกษาแบบเดิม คือ การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลี แผนกธรรมจัดเป็น ๓ ชั้น แผนกบาลีจัดเป็น ๙ ชั้น แผนกธรรม ซึ่งสอนธรรมเป็นภาษาไทยมุ่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับพระภิกษุสามเณร

         ส่วนนักเรียนบาลี จะต้องศึกษาเล่าเรียน พระไตรปิฎก และอรรถกถา วิชาแปลมคธเป็นไทยและวิชาแปลไทยเป็นมคธ สามเณรที่ สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคจะได้รับการอุปสมบทซึ่งอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ยากต่อการเล่าเรียน เพราะส่วนใหญ่เน้นการท่องจำ อย่างไรก็ตามรัฐได้รับรองเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นเปรียญธรรมชั้นสูงสุดให้มีค่าเทียบเท่าชั้นปริญญาตรีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสามเณรจึงขาดความ สนใจในการศึกษาภาษาบาลี คณะสงฆ์ประสงค์จะให้รัฐรับรองเปรียญธรรม ๙ ประโยคให้มีค่าเทียมเท่าชั้นปริญญาเอก โดยพร้อมที่จะปรับปรุงหลักสูตรให้มีการเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาบาลี

         เราจะมีวิธีการอย่างไร ที่จะเรียนภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ตายแล้วให้ง่ายขึ้น เหมือนสมัยก่อนโน้น ที่เรา สามารถใช้ภาษาบาลีพูดจาสื่อสารกันเองได้ในกลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ภาษาบาลีน่าจะถูกกำหนดให้เป็นภาษานานาชาติของกลุ่มประเทศนับถือพระพุทธศาสนา เหมือนภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาที่คนทั่วโลกใชสื่อสารกัน เช่น ในการประชุมเช่นนี้ เอกสารสิ่งตีพิมพ์น่าจะกำหนดเป็นภาษาบาลีได้

         การจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา แบบสมัยใหม่ในประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ๒ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่มีพระสงฆ์เป็นผู้บริหารสูงสุด มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับงบประมาณ สนับสนุนจากรัฐบาลไทย จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เปิดสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

        มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีวิทยาเขต ๑๐ แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศมีวิทยาลัยสงฆ์ ๔ แห่ง โครงการขยายห้องเรียน ๑๐ แห่ง และ สถาบันสมทบ ๓ แห่ง ซึ่งรวมที่เกาหลีใต้และไต้หวัน สาขาของมหาวิทยาลัยทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเปิดสอน ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์

         ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการก่อตั้งโครงการหลักสูตรนานาชาติระดับบัณฑิตศึกษาสอนเป็นภาษาอังกฤษ โครงการหลักสูตรนานาชาตินี้ได้รับความ สนใจจากนักศึกษาและครูอาจารย์จากต่างประเทศ เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและปรัชญาระดับสูงยิ่งขึ้นไป ถือว่าเป็นการรักษางานวิชาการ ที่เป็นเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เครือข่ายวิทยาเขตทั่วประเทศ ของมหาวิทยาลัยพยายามที่จะยกระดับการศึกษาและปฏิบัติธรรมในคณะสงฆ์ ตลอดทั้งผลิต พระสงฆ์ที่มีความสามารถ สอนพุทธธรรม ได้อย่างถูกต้องและบรรยายธรรมอย่างมีเหตุผล สอดคล้อง กับเหตุการณ์ร่วม สมัยและเรื่องราวปัจจุบัน อีกนัยหนึ่ง เราออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตพระสงฆ์ให้ สามารถจัดการปัญหาของชุมชนได้

         ในโครงการหลักสูตรนานาชาติ เราต้องการครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการ สอนเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งช่วยประเมินผลและตรวจวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษ เราอยากให้มีการแลกเปลี่ยนครูอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาต่างประเทศกับสถาบันอื่น ๆ และเพื่อเป็นสะพานเชื่อมเครือข่ายทั่วโลก

        เกี่ยวกับการจัดให้มีการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาตามโรงเรียนนั้น คณะสงฆ์ไทยได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการให้ออกคำสั่งให้มีการสอนวิชาพระพุทธศาสนาแก่นักเรียน ทุกระดับนับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ อย่างไรก็ดี โรงเรียนถูกปล่อยให้กำหนดรายละเอียดของหลักสูตรเอง แม้ว่าระดับความเข้าใจในวิชาพระพุทธศาสนา ในเขตการศึกษาจะไม่ค่อยตรงกัน และเพี้ยนไปบ้างในบางกรณีก็ตาม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องให้มีหลักสูตรแกนกลาง เป็นเครื่องชี้ทางให้นักการศึกษา แต่ละท้องถิ่นทำหลักสูตรพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องตรงกัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้รับภาระร่างหลักสูตรแกนกลางวิชาพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่ขอรายงานให้ท่านทั้งหลายทราบว่า หลักสูตรแกนกลางนี้สำเร็จสมบูรณ์แล้ว และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้แล้ว

         หลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาตั้งแต่ชั้นระดับประถมศึกษาตอนต้นถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้บรรจุพุทธประวัติ ชาดก พุทธธรรมพื้นฐาน และแนะนำพระไตรปิฎก รวมทั้งศัพท์สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย

         หลักสูตรได้รับการออกแบบให้นักเรียน มีความเข้าใจเกี่ยวกับพระสงฆ์ หน้าที่ และบทบาทของพระภิกษุด้วย นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านการศึกษาแล้ว เราเชื่อแน่ว่าหลักสูตรนี้จะส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยให้เด็กได้รับคำสอนที่มีค่า และจะปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยประกันว่าเด็กจะได้รับการสอนพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง

การปฏิบัติธรรม
         ประเด็น สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง คือการปฏิบัติกรรมฐาน ในประเทศไทย ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ได้รับการฝึกสอน และปฏิบัติกรรมฐานกัน ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรม และวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งที่บ้าน

         วัดในประเทศไทย มี ๒ ประเภท คือ วัดป่ามีพระสายปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่ง สายนี้เรียกว่าอรัญญวาสี และวัดบ้านที่มีพระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียน และจะเป็นทายาทบริหารงานคณะสงฆ์ ซึ่งสายนี้เรียกว่าคามวาสี การแยกวัดป่าออกจากวัดเมืองหมายความว่า มีพระภิกษุสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนแต่ไม่ใคร่ปฏิบัติธรรม และมีพระภิกษุสามเณรที่ปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใคร่ศึกษาเล่าเรียน เราจึงพยายามที่จะรวมพระสงฆ์ทั้งสองสายนี้ โดยให้การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิชาบังคับแก่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจัดให้มีการปฏิบัติธรรมประจำปีโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร

          เมื่อเราถือว่าการรักษาพระวินัยของพระสงฆ์และการรักษาศีล ๕ ของคฤหัสถ์ เป็นการปฏิบัติธรรมด้วยแล้ว เราจำเป็นยอมรับข้อเท็จจริงด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ทำให้ สังคมเกิดความแตกแยกและเกิดความเสื่อมทางด้านศีลธรรมส่วนตัวอย่างรวดเร็ว ชาวพุทธเองก็ไม่พ้นกฎข้อนี้ไปได้ และยังมีเรื่องฉาวโฉ่ทางกามโลกีย์ ความรุนแรง อาชญากร และการเสพย์ยาเสพติด ซึ่งส่อให้เห็นว่าพวกคฤหัสถ์เองก็ยังไม่สามารถรักษาศีล ๕ ได้อีกต่อไป จึงจำเป็นที่จะเรียกร้องให้ศีลธรรม และระเบียบวินัยในตนเองกลับคืนมา ข้อเท็จจริงที่ว่า ความเสื่อมทรามทางด้านศีลธรรมเกิดขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วเป็นเครื่องชี้ว่า การเรียกร้องให้มีระเบียบวินัยในตนเองเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง

         ในฝ่ายเถรวาทมีสิ่งมากมายที่จะหยิบยกมาเป็นปัญหา สมัยปัจจุบัน แต่เราต้องมีความพยายาม ที่จะครุ่นคิด ตีความหมายใหม่ และใช้เหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสำหรับผู้เริ่มต้นในข้อนี้ ขอให้อ่านหนัง สือของข้าพเจ้าเรื่อง "ศีลธรรมในพระพุทธศาสนา"

          ข้าพเจ้าถือว่าการแก้ปัญหาสังคมก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสยืนยันว่า ความสะดวกสบายเป็นสิ่งจำเป็นในการฟังธรรม และเราก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ไม่น้อยด้วยการพยายามแก้ปัญหา ความจำเป็นพื้นฐานของผู้อาจจะได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติธรรม คณะสงฆ์ไทยได้ลงมือปฏิบัติในข้อนี้มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น ในภาคเหนือของไทย มีกิจกรรมสำคัญ ในการแก้ปัญหาการแพร่โรคเอดส์ ทั้งในด้านการต่อสู้โรคร้ายนี้โดยอาศัยการศึกษา และทั้งในด้านการเยียวยาปัญหาสังคมที่เกิดจากโรคเอดส์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินจัดบรรพชาเยาวชนภาคฤดูร้อน เพื่อช่วยให้เยาวชนห่างไกล จากยาเสพติด และอาชญากรรม และหันไปใช้ชีวิตที่ดีงามขึ้น นิสิตที่จะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ต้องปฏิบัติศาสนกิจช่วยเหลือสังคมเป็นเวลา ๑ ปี และเรายังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่นิสิตร่วมงานได้ เช่น โครงการพัฒนาชาวเขา และโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์

การส่งเสริมพระพุทธศาสนา
          ในการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่คฤหัสถ์ มีหลายประเด็นที่จะขอกล่าวถึง

          ประการแรก ธรรมเนียมนิยมในการเทศนา คือ พระสงฆ์นั่งบนธรรมาสน์และชาวบ้านนั่งบนพื้นพนมมือฟังธรรม ซึ่งเป็นลักษณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยชอบนัก และผลที่เกิดขึ้น คือมีเฉพาะคนแก่เท่านั้นที่เข้าวัดในวันพระ สถานการณ์ยิ่งหนักซ้ำเข้าไปอีก เพราะวันพระตรงกับวันทำงานและคนหนุ่มสาวมาวัดไม่ได้ มีพระธรรมเทศนาบ้างในวันอาทิตย์ แต่การไปวัดวันอาทิตย์ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก คนมักพูดว่าไม่มีเวลาไปวัดและฟังธรรม

          ในการแก้ปัญหาวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้นำหลักเศรษฐศาสตร์มาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่สอนเรื่องการพึ่งตนเองและทางสายกลาง ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นแผนการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นแผนพัฒนาแบบยั่งยืนที่ขยายออกไปในการที่เศรษฐกิจจะหมุนต่อไปด้วยกัน จนพบกับความต้องการในระดับที่พอเพียงมากกว่า จะให้ระดับความมั่งคั่งที่มีความโลภเป็นตัวขับเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่ประชาชน และประเทศต่าง ๆ พอใจกับระดับความมั่งคั่งที่มีเหตุผล และความมั่งคั่งนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นจากความเสียหายของผู้อื่น ทุกคนมีพอที่จะยังชีพและพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนชาวพุทธทุกระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนตัว ชุมชน และระดับชาติ ที่จะให้คืนกลับมาหาคุณค่าทางพระพุทธศาสนา และให้มีกิจกรรมและนโยบายทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งในการที่ทรงปฏิบัติเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในโลกสมัยปัจจุบัน

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลมหาชนกชาดกเป็นพากย์ภาษาไทยและอังกฤษ โดยมีการปรับให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน ตามท้องเรื่อง พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยบารมีอย่างยิ่งยวด ไม่ทรงประสงค์ผลตอบแทนอะไร ได้ทรงขึ้นครองราชย์และนำความรุ่งเรืองมาสู่พระราชอาณาจักร มหาชนกชาดกซึ่งจัดพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙ เป็นหนังสือขายดีที่ สุด และเหมาะกับเวลาในการย้ำเตือน ให้คนไทยอดทนต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจ และเพียรพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยอาศัยความเพียร ปัญญา และสุขภาพแข็งแรง

          คณะสงฆ์ไทยได้ร่วมจัดทำกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น ก่อตั้งวัดและจัดให้มีพระธรรมทูตอยู่ประจำในประเทศตะวันตกหลายแห่ง ในประเทศไทยเอง ก็มีทั้งวัดและศูนย์ปฏิบัติธรรม ซึ่งคฤหัสถ์ทุกชาติ สามารถเข้ามาเรียนรู้และปฏิบัติธรรมได้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ มีคำแนะนำทั้งพากย์ภาษาไทยและอังกฤษ มีหลายวัดด้วยกันซึ่งจัดขึ้นเฉพาะพระภิกษุชาวตะวันตก ถ้าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นการเพาะปลูก สิ่งที่จะก่อให้เกิดความสุขและเป็นการกำจัดสิ่งที่จะนำทุกข์มาให้ไซร้ สิ่งที่ข้าพเจ้าเคยพูดมาในแง่ปฏิบัติแล้ว ก็นำมาประยุกต์ใช้ในที่นี้ได้ดี การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งยังหมายถึง การขจัดโรคร้ายทางสังคม ซึ่งมาพร้อมกับความทันสมัยและโลกาภิวัฒน์ ทั้งในแง่ของการลดความทุกข์ และในแง่ของการตระเตรียมคนให้ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า แน่นอนว่าภารกิจ ส่วนใหญ่ในการนำชาวพุทธกลับมาหาพระพุทธศาสนาอีก ก็โดยการสอนให้รู้จักวิธีการประยุกต์ใช้ "ประเพณีดั้งเดิม" ที่เขา "ต้องการ" จะยึดถือ แล้ว ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ "สมัยใหม่" ที่เขา "ต้อง" ดำเนินชีวิต ถึงแม้จะดูว่าขัดแย้งกับประเพณีดั้งเดิมก็ตาม

          ดังที่กล่าวมาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เราฝึกอบรมพระสงฆ์ให้ สามารถ สอนวิชาพระพุทธศาสนาตามโรงเรียนได้ เรายังจัดส่งนิสิตให้ออกไปฝึกปฏิบัติงานอยู่กับชาวบ้าน เราใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ทำคำสอนของพุทธเจ้าให้สืบค้นได้ง่ายทั่วโลกเพียงแค่คลิกเมาส์ ให้นิสิตได้ สนทนาแลกเปลี่ยน และร่วมมือกันจัดกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ

         ในการตอบสนองต่อโลกาภิวัฒน์ การเผยแผ่ของชาวพุทธยังต้อง สร้างเครือข่ายชาวพุทธทั่วโลกทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชาวโลก กล่าวคือ บางทีเราอาจจะต้องเข้าไปสู่กระแส โลกาภิวัฒน์เสียเอง เพื่อที่จะนำพระพุทธศาสนาให้มีคุณค่าต่อโลกยิ่งขึ้น เกี่ยวกับประเด็นนี้ ข้าพเจ้าอยากจะทบทวนความคิดริเริ่ม ๒ ประการ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เป็นผู้แสดงบทบาท สำคัญ

         ในปี ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุม เพื่อการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาแห่งโลกครั้งที่ ๒ หรือที่เรียกกันว่า "การประชุมสุดยอดชาวพุทธ" ในประเทศไทย ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผู้นำศาสนาระดับสูงจาก ๑๖ ประเทศซึ่งเป็นผู้แทนจากพระพุทธศาสนานิกาย สำคัญทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายานเข้าประชุมร่วมกัน ผู้นำศาสนาเหล่านี้มิเพียงพูดคุยกันเกี่ยวกับ วิธีการที่จะทำงานร่วมกันในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขของมวลชนและให้ความร่วมมือกันในสิ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพมั่นคง และทำให้มนุษย์ชาติและ สิ่งแวดล้อมดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังได้ลงนามรับรองกฎบัตรก่อตั้งการประชุมพุทธนี้ให้เป็นองค์กรถาวร ผูก สัมพันธ์ผู้นำพุทธทั่วโลกทำงานร่วมกันให้ธรรมบริการแก่มนุษย์ชาติอีกด้วย

         ในปีเดียวกันนั้นเอง ข้าพเจ้าพร้อมด้วยผู้แทนคณะสงฆ์ไทยได้เข้าร่วมในการประชุม สุดยอดของผู้นำศาสนาและจิตวิญญาณเพื่อสันติภาพโลกในสหัสวรรษ ณ หอประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำระดับสูงจากศาสนาสำคัญทั่วโลกทั้งหมด มาพบปะกันในที่แห่งเดียวกัน เพื่อพูดคุยถึงหนทางและวิธีการก่อให้เกิดสันติภาพแก่โลก นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้ร่วมการประชุมซึ่งเป็นผลสืบเนื่องในปีถัดมาอีก ณ มหานครนิวยอร์ก เพื่อวางแผนปฏิบัติงานต่อไป และ พูดคุยวิธีการที่จะให้เป้าหมายของการประชุมสุดยอดเพื่อสันติภาพในปี ๒๕๔๓ นำมาปฏิบัติให้เกิดผล

        ผลก็คือการประชุมสภาผู้นำศาสนาโลกครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและการประชุมสุดยอดเพื่อสันติภาพโลกในสหัสวรรษร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ผู้แทนระดับสูงของศาสนาต่าง ๆ ในโลก ได้พบปะพูดคุยกัน พร้อมกับร่วมกันแสวงหาเส้นทางสู่สันติภาพ การบรรเทาความยากจน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้มีการลงนามรับรองกฎบัตรก่อตั้งสภาผู้นำศาสนาโลก ซึ่งประกอบด้วยศาสนาพุทธ ฮินดู เชน อิสลาม ยูดาย คริสต์ และศาสนาอื่น ๆ เป็นองค์กรถาวร ลักษณะสำคัญของ สภาผู้นำศาสนาโลกก็ เพื่อทำงานใกล้ชิด กับองค์การสหประชาชาติในประเด็นเหล่านี้ ในขณะเดียวกันต้องรักษาความเป็นองค์กรอิสระด้วย

         ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เราได้จัดทำระเบียบว่าด้วย สถาบันการศึกษาในประเทศอื่น ๆ มาเป็น สถาบันสมทบกับมหาวิทยาลัยโดยมีประโยชน์ร่วมกันทั้ง สองฝ่าย เช่น วิทยาลัยพระพุทธศาสนาดองกุกชอนบอบในประเทศเกาหลีได้เข้ามาเป็น สถาบันสมทบกับเราเรียบร้อยแล้ว และวิทยาลัยพระพุทธศาสนาชินจูในไต้หวันได้ สมัครเข้ามาเป็นสถาบันสมทบอีกแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ เรากำลัง สร้างเครือข่ายการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในระหว่างประเทศและนิกายที่แตกต่างกัน ดังนั้น การ สนทนาแลกเปลี่ยนทางวิชาการจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันถูกจัดให้มีขึ้นและรักษาความมีชีวิตชีวาไว้ และจะเป็นกระบวนการเชื่อมไมตรีระหว่างผู้คนซึ่งยังไม่รู้จักกันและบางทีก็เริ่มจะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

การปกป้องพระพุทธศาสนา
          ภารกิจสำคัญของพระสงฆ์ข้อสุดท้ายคือการปกป้องพระพุทธศาสนาสิ่งที่กล่าวมามากแล้วนั้นก็ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนา จากการเข้าใจผิดและนำไปใช้ผิดมหันตภัยต่อพระพุทธศาสนา ที่เห็นชัดอย่างหนึ่งก็คือการใช้กลยุทธ์เชิงรุกรานในการแย่งชิงศาสนิกชนของบางศาสนา ความพยายามเชิงรุกรานนี้เป็นสิ่งน่าห่วงใยมิใช่เฉพาะต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อีกหลาย ๆ ศาสนาด้วยเหมือนกัน วิธีการอย่างหนึ่งในการเผชิญสิ่งคุกคามเช่นนี้ ก็โดยที่เราพระสงฆ์ต้อง สร้างความมั่นใจได้ว่า ปฏิบัติตามหน้าที่ของเราต่อคฤหัสถ์อย่างถูกต้อง เช่น ให้คำแนะนำและช่วยเป็นภาระทางด้านการศึกษา ในขณะเดียวกันตัวพระสงฆ์เองต้องรักษาข้อพระวินัยอย่างเคร่งครัด

         ในการโต้ข้อกล่าวหาของศาสนาคริสต์ที่กล่าวหาว่า พระพุทธศาสนาไม่สนใจปัญหาสังคมนั้น เราจะต้องจำไว้ว่า ชาวพุทธได้ สร้างโรงพยาบาลและทำสาธารณประโยชน์อื่น ๆ มาก่อนที่
พระเยซูอุบัติ เมื่อระลึกถึงข้อนี้ได้ เราก็ต้องหวนกลับไปทำงานด้านบริการ สาธารณะและมีความเมตตาเป็นอย่างมาก ในคราวประชุม สภาผู้นำศาสนาของโลกที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๔๕ ปัญหาเรื่องการแย่งชิงกันเปลี่ยนศาสนาเป็นเรื่องน่าห่วงใย สำหรับผู้เข้าประชุมจากเกือบทุกศาสนา และเป็นเรื่องแน่ชัดว่า สภาผู้นำศาสนาโลก จะไม่เห็นด้วยกับการให้เปลี่ยนศาสนาเชิงรุกรานใด ๆ

         สิ่งคุกคามอย่างมากต่อพระพุทธศาสนาก็คือภัยภายในพระพุทธศาสนา จากการที่พระสงฆ์ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามพระวินัย การล่วงละเมิดของพระเหล่านี้ เป็นเหตุให้ภายในคณะสงฆ์ เองกลับเลวร้ายลงยิ่งขึ้น ทั้งคอยเป็น สนิมกัดกร่อนอำนาจของพระสงฆ์ในหมู่คฤหัสถ์ และกลับเป็นกระสุนแก่ผู้เป็นปรปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา เราต้องค้นหาหนทางที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้

สรุป
         การพูดคุยกันเป็นสิ่งสำคัญในทุกระดับชั้นและเป็นสิ่งจำเป็นที่การพูดคุยซึ่งเริ่ม ณ ห้องประชุมนี้จะดำเนินต่อไปในอนาคต ข้าพเจ้าขออนุโมทนาผู้จัดงานสำหรับการสร้างเวทีเช่นนี้ขึ้น ฉะนั้นจึงหวังต่อไปว่า ประเทศไทยจะสามารถรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเช่นนี้บ้างในอนาคตอันไม่ไกลนี้

         ข้าพเจ้ารู้ สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างมากต่อคณะสงฆ์ศรีลังการุ่นเก่าที่ในสมัยก่อนโน้น นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่ประเทศไทยและข้าพเจ้าขออนุโมทนาประชาชนชาวศรีลังกา ในการพิทักษ์รักษาเชื้อสายของ ยาโม ปาลีมหานิกาย อย่างไม่ขาดสายเป็นเวลานานถึง ๒๕๐ ปี

         คณะสงฆ์ได้ฝ่าคลื่นลมมรสุมรอดพ้นวิกฤตมาเป็นเวลากว่า ๒,๕๐๐ ปี นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงก่อตั้งคณะสงฆ์นี้ขึ้นมา ถ้าคณะสงฆ์ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และประยุกต์ใช้พระธรรมวินัยอย่างถูกต้องตามพุทธประสงค์ด้วยสติปัญญา พระพุทธศาสนาก็จะดำรงคงอยู่ สถาพรในอนาคตกาลเพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษยชาติตลอดไป

(ที่มา: ปาฐกถา ณ เมือง โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕